วันอาทิตย์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ไทยเชื้อสายมลายู


ชาวไทยเชื้อสายมลายู หมายถึงชาวไทยซึ่งมีเชื้อสายมลายู (มาเลย์) มีกระจายทั่วไปในทางภาคใต้ของประเทศไทย ประชากรใช้ภาษาตระกูลมาลาโย-โพลินีเชียน และส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม และมีประชากร ร้อยละ 3 ของประชากรทั้งหมด กระจายตัวหนาแน่นมากที่สุดทางภาคใต้ตอนล่าง ในภาคใต้ส่วนอื่นๆก็มีชาวไทยเชื้อสายมลายูกระจายอยู่ทั่วไป ส่วนภาคกลางเองก็มีมากในกรุงเทพฯ จังหวัดนนทบุรี จังหวัดปทุมธานี เลยไปถึงจังหวัดฉะเชิงเทราในตำบลศาลาแดง อำเภอบางน้ำเปรี้ยวด้วย

ชาวมลายูในไทย

ชาวมลายูปัตตานี เป็นกลุ่มชนขนาดใหญ่กลุ่มหนึ่งซึ่งอาศัยอยู่จำนวนมากในจังหวัดทางภาคใต้ของประเทศไทย เป็นประชากรส่วนใหญ่ตั้งแต่จังหวัดปัตตานี จังหวัดนราธิวาส และจังหวัดยะลา รวมไปถึงบางส่วนของจังหวัดสงขลา มีประชากร 3,359,000 คน หรือร้อยละ 3 ของประชากรทั้งประเทศ ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม เช่นเดียวกับกลุ่มชาวมาเลย์ทั่วไป ชาวมลายูปัตตานีเรียกตนเองว่า ออแฆฮนายู (Orang Melayu) ซึ่งมีความหมายว่า คนมลายู และบางที่ก็เติมคำข้างหน้าด้วยเป็น กีตอออแฆฮนายู (Kita Orang Melayu) ซึ่งแปลว่า พวกเราคือมลายู และจะเรียกชาวมาเลเซียว่าออแฆฮมาเล (Orang Malay) เพราะพวกเขาแยกแยะ และมีจิตสำนึกได้ดีว่าเขาไม่ใช่คนมาเลเซีย และเรียกคนไทยว่า ออแฆฮซิแย (Orang Siam) ส่วนชาวมลายูปัตตานีที่ถูกกวาดต้อนไปอาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร จะถูกเรียกว่า ออแฆฮนายูบาเกาะ (Orang Melayu Bangkok) ถือว่าเป็นชาวมลายู แต่ถูกกวาดต้อนไปกรุงเทพ และไม่ใช่ชาวออแฆฮนายูอย่างเขา ชาวไทยเชื้อสายมลายูในกรุงเทพนั้นอาศัยอยู่กระจายตัวตั้งแต่สี่แยกบ้านแขก ในฝั่งธนบุรีเลยไปถึงเขตหนองจอก แต่คำคำนี้ยังรวมไปถึงคนมลายูรอบๆปริมณฑลด้วย อย่างที่จังหวัดปทุมธานี และนนทบุรี โดยที่จังหวัดปทุมธานีจะพบคนกลุ่มนี้ในเขตคลองประชาเก่ง คลองบางโพธิ์เหนือ และคลองหนึ่ง สถานที่ตั้งถิ่นฐานมีสุเหร่าเป็นแห่งแรกที่บ้านสวนพริกไทย ส่วนในนนทบุรีมีชนกลุ่มนี้ที่สามารถพูดภาษามลายูได้ที่ตำบลท่าอิฐ อำเภอปากเกร็ดที่ถูกกวาดต้อนมาจากจังหวัดปัตตานีสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เป็นเวลากว่า 200 ปีมาแล้ว ในอยุธยาเองก็มีชุมชนชาวไทยเชื้อสายมลายูอยู่ที่คลองตะเคียนใต้เกาะอยุธยา ซึ่งเข้ามาอาศัยนานแล้วตั้งแต่สมัยอยุธยา

ภาษา

ชาวมลายูในสี่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา จังหวัดนราธิวาส และบางส่วนของจังหวัดสงขลา ส่วนใหญ่ยังใช้ภาษามลายูปัตตานี ซึ่งเป็นภาษามลายูท้องถิ่น และมีคนพูดกันมาก และหลายคนสามารถพูดภาษามาเลย์กลางได้ นอกจากนี้ยังเขียนด้วยอักษรยาวี ที่ดัดแปลงจากอักษรอาหรับและมีใช้กันอย่างแพร่หลาย รวมไปถึงการใช้ภาษาไทยเป็นภาษาที่สองด้วย โดยพ่อแม่ในท้องถิ่นนี้จะสอนลูกหลานพูดภาษาแม่ของตนคือภาษามลายู (Bahasa Melayu) ในชีวิตประจำวัน ต่อเมื่อเด็กๆ เข้าเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาแล้วจึงจะได้เรียนรู้ที่จะพูดหรืออ่านภาษาไทยในฐานะภาษาที่ 2[1]

ส่วนชาวไทยเชื้อสายมลายูที่ถูกกวาดต้อนเข้ามาในกรุงเทพมหานครและจังหวัดปริมณฑลนั้น จะมีคนอายุเกินกว่า 40 ปีเท่านั้นที่ยังพอพูดภาษามลายูได้ แต่ต่างจากภาษามลายูที่ใช้ในภาคใต้อยู่บ้าง เรียกว่าภาษามลายูบางกอก และส่วนใหญ่หันมาใช้ภาษาไทยกลาง ประชากลุ่มนี้ มีอยู่ประมาณ 5,000 คน แต่ความสามารถในการใช้ภาษาแตกต่างกันออกไป มีการใช้ภาษามลายูถิ่นสตูล ซึ่งใกล้เคียงกับภาษามลายูเกดะห์ประมาณ 6,800 คน ในจังหวัดสตูลและจังหวัดใกล้เคียง และยังมีชุมชนเชื้อสายมลายูกระจายอยู่ทั่วไปในภาคใต้ อย่างที่จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดระนอง จังหวัดภูเก็ตจังหวัดพังงา จังหวัดกระบี่ จังหวัดตรัง จังหวัดชุมพร ฯลฯ

วัฒนธรรม

ความเป็นมลายู นั้นขึ้นอยู่กับองค์ประกอบสำคัญได้แก่ ภาษามลายู ศาสนาอิสลาม และวัฒนธรรม เพราะฉะนั้นใครก็ตามที่พูดภาษามลายูได้ เลือกวิถีวัฒนธรรมมลายู โดยเฉพาะต้องนับถือศาสนาอิสลามถือว่าเป็นชาวมลายู ถ้าสักแต่พูดภาษามลายู มีชีวิตในวิถีวัฒนธรรมมลายู แต่ไม่ได้นับถือศาสนาอิสลาม ก็ไม่ถือว่าเป็นมลายู

อย่างไรก็ตามศาสนาอิสลามจะเกาะเกี่ยวกับความเป็นมลายูตลอด เมื่อใครเข้ารับศาสนาอิสลามหรือเข้าอิสลามก็จะเรียกว่าเข้ามลายู (มาโซ๊ะ มลายู หรือมะโซ๊ะยาวี) หรือ เป็นมลายูซึ่งประเด็นนี้น่าสนใจเพราะเขาจะเรียกว่า"เข้าไทย"(มาโซ๊ะ ซีแย) เมื่อมีใครเปลี่ยนไปนับถือศาสนาพุทธในทำนองเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ขณะเดียวกันชีวิตวัฒนธรรม โดยเฉพาะภาษามลายูก็มีความสำคัญอย่างยิ่ง ถึงกับมีคำกล่าวว่า “ฮีลัง บาฮาซา ฮีลัง บังซา” แปลเป็นไทยได้ว่า “ถ้าภาษา (มลายู) หาย ชาติ (หรือความเป็นมลายู) ก็จะหายด้วย” ดังนั้นเขาจึงต้องต่อสู้เพื่อปกป้องชาติหรือความเป็นมลายูของตัวเองไม่ให้สูญสลายหายไป รวมทั้งพยายามยืนหยัดที่จะใช้ภาษามลายูสืบไป

ชาวไทยเชื้อสายมลายูหลายคน ยังแต่งกายแบบมลายูให้เห็นอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะทางภาคใต้ ผู้ชายยังแต่งกายด้วยการนุ่งโสร่ง ผู้หญิงนุ่งผ้าปาเต๊ะ โพกศีรษะเหมือนชาวมุสลิมในประเทศมาเลเซีย ปัจจุบันวัฒนธรรมการแต่งกายของมาเลเซียก็เข้ามา ทำให้ชาวมลายูแต่งตัวให้ทันสมัยมากขึ้น แต่ยังคงอัตลักษณ์ความเป็นมลายู และอิสลามอยู่อย่างมั่นคง

ศาสนา

ชาวไทยเชื้อสายมลายู เป็นชาวมุสลิมที่เคร่งครัดในศาสนา และมีการทำนมาซ และ กระทำกันในมัสยิด หรือสุเหร่า และมีการแสวงบุญไปยังนครมักกะห์ และมีการถือศีลอด และหลังจากการถือศีลอดนั้นก็จะมีเทศกาลฮารีรายอ การแต่งงาน (มาแกปูโล๊ะ) การเข้าสุหนัต (มะโซ๊ะยาวี) เพื่อแสดงว่าตนเป็นชาวมุสลิม ชาวมุสลิมทุกคนจะให้ความศรัทธาแก่องค์อัลเลาะห์ พระเจ้าองค์เดียวแห่งศาสนาอิสลาม แต่ยังมีชาวไทยเชื้อสายมลายูจำนวนไม่น้อยที่นับถือศาสนาพุทธแบบเดียวกับคนไทย โดยสืบเชื้อสายมาจากชาวมลายู แต่ส่วนใหญ่คนกลุ่มนี้จะถือตัวเป็นคนไทยเพราะว่านับถือศาสนาพุทธ

ไฟล์:ประเพณีแห่นก.jpg

ประเพณีการแห่นก เป็นผสมผสานศิลปะระหว่าง ชวา อินเดีย และไทย เป็นการแสดงการคารวะหรือจงรักภักดีแก่ผู้ใหญ่ที่ควรเคารพนับถือมาเยือน ปัจจุบันหาดูยาก เนื่องจากขัดหลักศาสนาอิสลาม

ไฟล์:ShowMakyonginRama5.jpg

ภาพการแสดงมะโย่งของชาวอำเภอโคกโพธิ์จังหวัดปัตตานี ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว



credit : http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B9%80%E0%B8%8A%E0%B8%B7%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%A1%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%B9

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น